20 กรกฎาคม 2556

ไล่ล่าความว่างเปล่า: จำเป็นที่ต้องมีพื้นที่ว่างสำหรับชีวิต (ตอนสาม)

ตามความคิดเห็นของ ดร. ริชาร์ด เอ.สเวนสัน   ที่ท่านเขียนในหนังสือ Margin: Restoring Emotional, Physical, Financial, and Time Reserves to Overloaded Lives.  ว่าการดำรงชีวิตที่มีสุขภาวะอย่างสมดุล   เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ว่างสำหรับชีวิตสี่ด้านด้วยกันคือ  พื้นที่ว่างด้านพลังทางอารมณ์,   พื้นที่ว่างด้านพลังทางกาย,  พื้นที่ว่างในชีวิตสำหรับการเงินการทอง  และพื้นที่ว่างด้านสำหรับเวลา

พื้นที่ว่างในชีวิตและพลังทางอารมณ์

ถ้าพลังทางอารมณ์ของเราหมดกำลังลง   ชีวิตของเราอยู่ไปก็เพื่อการอยู่รอดเท่านั้น   มิใช่การดำรงชีวิตอย่างเต็มบริบูรณ์   เราต้องการพลังทางอารมณ์มิใช่เพื่อดูแลตัวเราเองเท่านั้นแต่มีไว้เพื่อเอื้อเฟื้อต่อผู้คนรอบข้างด้วย   การที่พลังอารมณ์ลดน้อยถอยลงอาจนำไปสู่การหลงบูชาในตนเอง   การที่เรากลายเป็นคนที่หมกมุ่นในตนเองเพราะเราแทบจะไม่สามารถรับมือกับชีวิต  ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำได้ในเวลาเช่นนั้นคือการที่จะสนใจแต่ตนเอง   คงเป็นการยากยิ่งที่เราจะสามารถบอกถึงจำนวนของพลังทางอารมณ์   แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเราเกิดความอ่อนล้าเพลียแรงทางอารมณ์  จะนำไปสู่วงจรอาการหมดแรงในขั้นวิกฤติทั้งทางจิตใจ  จิตวิญญาณ  และสุขภาพทางอารมณ์

เราอาจจะเปรียบพลังทางอารมณ์กับสมุดฝากธนาคาร   เรามักจะมีเงินเหลือสำรองในสมุดฝากธนาคาร    ในการเริ่มต้นวันใหม่แต่ละวัน   เราต้องตรวจสอบให้รู้เท่าทันว่าเรามีพลังในตัวเหลืออยู่สักแค่ไหน   ต้องรู้เท่าทันว่าอะไรที่เป็นตัวดูดพลังจากตัวเราไป  และ อะไรเป็นตัวเสริมเพิ่มพลังแก่ชีวิตของเราในแต่ละวัน   การพักผ่อน   การออกกำลังกาย  การรับประทานอาหารที่เหมาะสม  กำหนดขอบเขตด้านต่างๆ ในชีวิต   การฝึกสำนึกซาบซึ้งในพระคุณ การขอบพระคุณพระเจ้า  การติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น   การอธิษฐานก็เป็นการเติมเต็มพลังทางอารมณ์ทางหนึ่งด้วย

พื้นที่ว่างในชีวิตและพลังทางกาย

ดร. สเวนสัน แนะนำให้เราสนใจเรื่องนี้ใน 3 ด้านด้วยกันคือ   เราไม่อยากจะเชื่อว่า คนอเมริกันต้องการสามสิ่งคือ  (1) มีหุ่นที่ดีขึ้น   (2) ลดน้ำหนักของตนเอง  และ  (3) นอนหลับมากขึ้น  ในที่นี้เราคงไม่ลงไปในรายละเอียดให้ยุ่งยาก   แต่ทั้งสามประการดังกล่าวต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน   การออกกำลังกาย   การรับประทานอาหารที่ดี   ย่อมเป็นเหตุผลที่นำไปถึงการที่นอนหลับได้ดีและมีสุภาพจิตที่สดชื่น    จากผลการวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะว่า  การนอนหลับไม่เพียงพอทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น  โดยไม่ต้องอ้างถึงการทำให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายขึ้นและมากขึ้น   ขาดสมาธิ   และเกิดความซึมเศร้าในชีวิต   ดร. สเวนสันกล่าวว่า   โดยภาพรวมแล้วคนอเมริกันนอนหลับน้อยลงคืนละชั่วโมงครึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ 100 ปีที่ผ่านมา

พื้นที่ว่างในชีวิตกับเศรษฐกิจ

ถ้าเปรียบเทียบคนอเมริกันกับคนส่วนอื่นในโลก คนอเมริกันดูจะมั่งมีมั่งคั่งกว่า   แต่ความมั่งคั่งดังกล่าวไม่ได้ทำให้อเมริกันชนมีความคิดที่สงบสันติ   คนส่วนใหญ่จะมีความเครียดในเรื่องการเงิน   คนที่มั่งมีก็วิตกห่วงใยกับเงินที่ตนมีอยู่   ในขณะที่คนไม่มีก็เครียดกังวลว่าทำอย่างไรตนจึงจะทำเงินหรือมีเงินมากขึ้น

เรามีความยากลำบากที่จะแยกแยะชัดเจนระหว่าง “ความต้องการอยากได้” กับ “ความจำเป็นในชีวิต”   หลายคนกำลังใช้จ่ายทั้งๆ ที่ยังไม่มี   บ้างก็จ่ายเงินล่วงหน้า   หลายคนในพวกเราจึงต้องเป็นหนี้  และมีชีวิตในภาวะที่ล่อแหลมบนขอบที่คมกริบของใบมีดโกน

พระวจนะของระเจ้าเตือนเราว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยอาจจะกลายเป็นกับดักในชีวิตของเรา   มันอาจจะทำให้บางคนต้องตกลงไปในความมัวเมาและเย้ายวน   ให้เราออกห่างและเลือกสนใจต่อสิ่งอื่นที่เห็นว่าสำคัญในชีวิต   พระเยซูคริสต์บอกเราอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนว่า อย่าสั่งสมทรัพย์สมบัติสำหรับตนในโลกนี้   แต่ผมไม่คิดว่าพระองค์กำลังแนะนำเราว่าให้อยู่ไปวันๆ หนึ่งอย่างไร้เป้าหมายแผนการในชีวิต   แต่พระคัมภีร์กล่าวถึงเรื่องเงินทองว่า   เราจะต้องมีมุมมองต่อเงินทองบนรากฐานตามพระวจนะของพระเจ้า

มีใจที่ต้องการให้ลดน้อยลง  และ มีจิตใจกว้างขวางในการให้ที่เพิ่มสูงขึ้น

พื้นที่ว่างในชีวิตสำหรับเรื่องการเงินควรจะให้เรามีความต้องการจำเป็นในชีวิตของเราต่ำลง(ลดลง)   และควรมีจิตใจที่ให้ด้วยใจกว้างขวางสูงขึ้น   ให้เราคาดหวังในชีวิตจากเบื้องบน   ให้เราสร้างพื้นที่ว่างในชีวิตด้านการเงินด้วยการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย  และลดรายจ่ายของเราลงก็จะสร้างแรงกดดันและความเครียดในชีวิตลดน้อยถอยลงด้วย   เพื่อเราจะมีพื้นที่เตรียมรองรับสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดมาก่อน   เตรียมพื้นที่ชีวิตด้านเงินทองที่จะตอบสนองสถานการณ์ต่างๆ ด้วยใจกว้างขวาง

เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ให้อยู่อย่างเรียบง่ายตามอัตภาพ   พอใจในสิ่งที่ตนมี  หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายด้วยใจง่ายใจเร็ว   คิดให้รอบคอบในการจับจ่ายใช้สอย   เป็นคนที่มีใจกว้างขวางในการช่วยเหลือคนอื่นตามกำลัง   และมีการอดออมที่เหมาะสมพอดี   เพื่อมีใช้จ่ายจำเป็นในกรณีฉุกเฉินในชีวิต

พื้นทีว่างในชีวิตด้านเวลา

ในยุคปัจจุบันได้ผูกพันเวลากับความเร่งเร็วและผลผลิตหรือผลที่เกิดขึ้น   เรานับเป็นวินาที   แม้จะเป็นเวลาว่างเวลาตามสบายแต่มันก็ไม่ว่างและก็เร่งรีบอยู่ดี   ผู้คนที่กลับจากการ “พักผ่อน พักร้อน” ด้วยความเหนื่อยล้า?   เป็นไปได้อย่างไรที่เราเก็บรักษาเวลาไว้มากมาย   แต่กลับมีเวลาสำรองไว้น้อยเหลือเกิน?  อะไรที่มัน “เขมือบ” เอาเวลาของเราไป?  การจราจรในเวลาเร่งรีบ,  โทรศัพท์,  การประชุม,  ความยุ่งเหยิงและเรื่องสัพเพเหระที่จะต้องการจัดให้เป็นระเบียบระบบ,  จดหมายขยะ,  อีเมล์  และ อะไรอีกมามาย...

มองไปแล้ว   เราจะได้พื้นที่ว่างด้านเวลาในชีวิตของเราจากที่ไหน?

การเลือกที่คิดว่าฉลาด แต่...

เพื่อนผมคนหนึ่งเล่าว่า   เมื่อไม่นานมานี้เขาไปสัมมนาที่กรุงเทพฯ   ในเช้าวันอาทิตย์หลังการสัมมนา เขาตัดสินใจเช่ารถจากโรงแรมและขับไปปลายทางจังหวัดหนึ่งใกล้กรุงเทฯ   เขาคิดว่าวันอาทิตย์รถคงไม่ติด  และเป็นการพักผ่อนไปในตัว   และวางแผนจะแวะเที่ยวข้างทางสองสามแห่ง

“มันเป็นไปได้อย่างไร?”  เสียงเพื่อนดังแหลมขึ้น “วันอาทิตย์ภาษาอะไรว่ะ รถติดหนึบเลย!”   เขาบอกว่ารถเคลื่อนไปข้างหน้าที่ละคืบ   มีเสียงบีบแตรรถด้วยอารมณ์เสีย   หน้าตาคนในรถแต่ละคันท่าทีโกรธเคร่งเครียด   เหมือนกำลังบ่นพึมพำอะไรกับตนเองหลังพวงมาลัย   และนี่เป็นวันอาทิตย์นะยังเป็นอย่างงี้   แล้ววันทำงานในชั่วโมงเร่งรีบมันจะสาหัสกว่านี้สักแค่ไหน?

เพื่อนเล่าว่า ในฐานะคนมาจากบ้านนอกต้องขับรถด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง   กันชนหน้าของเขาห่างกันชนท้ายรถคันข้างหน้าแค่เส้นยาแดงผ่าแปด   แม้จะเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้าแต่ก็ต้องระวังอย่างมากที่จะไม่เอาข้างรถไปสีกับรถซ้ายขวา  เขากล่าวว่า “สติแตก!  ประสาทรับประทานจริงๆ” 

เพื่อนผมกลับจาก “พักผ่อน” วันนั้นถึงโรงแรมในกรุงเทพฯ เกือบเที่ยงคืน   เขาสูญเสียเวลาเพื่อการพักผ่อนที่มหาเครียดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา

สมดุลภาพในชีวิต

การมีความสมดุลที่มีสุขภาวะในชีวิตเราจำเป็นที่จะต้องทำสิ่งสำคัญที่จำเป็นในชีวิตให้สำเร็จ   รวมหมายถึงมีเวลาแก่ครอบครัว  เพื่อนฝูงมิตรสหาย  กับตนเอง  และกับความเชื่อศรัทธาของตัวเรา   แต่อาจจะไม่ต้องลำดับความสำคัญก่อนหลังตามข้างต้น   ความจริงก็คือในชีวิตของเราต้องใช้เวลาสำหรับมิติต่างๆ ในชีวิตในหลากหลายด้านเหล่านี้

ความเชื่อศรัทธาของเราจะ “ผอมแห้งแรงน้อย” ถ้าเรามิได้รับการเอาใจใส่ฟูมฟักบำรุงจากตนเอง   และเราจะไม่สามารถเข้าถึงชีวิตจิตวิญญาณ ถ้าความเชื่อศรัทธาของเรา “เพลีย พร่อง อ่อนแรง”  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง   ถ้าเราปล่อยปละละเลยให้ความเชื่อศรัทธาของเรา “ขึ้นสนิม” แล้ว   เราต้องกลับมา “เคาะสนิม”  จะเป็นภาระชีวิตที่ลำบากหนักอึ้ง  

การที่เราต้องดูแลชีวิตและจิตวิญญาณของตนเองมิใช่เรื่องสะดวกสบายเลย 

แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในชีวิตของเราครับ

แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยเช่นกันนะครับว่า   ในสิ่งใดที่เกินความสามารถที่เราจะลงมือลงใจจัดการเองได้   พระวิญญาณของพระเจ้าพร้อมที่จะทรงหนุนเสริมเรี่ยวแรงแก่เราครับ   ปรึกษากับพระองค์เดี๋ยวนี้ซิครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น