05 กรกฎาคม 2556

ไล่ล่าไปในความว่างเปล่า: แต่เราต้องการพื้นที่ว่างในชีวิต(ตอนหนึ่ง)

ในกระแสวันธรรมแห่งความกดดันในปัจจุบันนี้   มิได้ทำให้เรามี “ชีวิตที่ครบบริบูรณ์” หรือชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขอย่างพระสัญญาของพระเยซูคริสต์ได้กล่าวไว้   ถึงแม้ปัจจุบันเรามีเงินทองมากมาย,  ทรัพย์สินสิ่งเยอะแยะเกินต้องการ,  มีการบริการที่ยอดเยี่ยม(เมื่อเทียบกับอดีต),  และเป็นสมัยโลกที่มีระบบสาธารณสุขที่ดูแลเอาใจใส่สุขภาพที่ดีเยี่ยม   สิ่งเหล่านี้รอเราเข้าถึงความอุดมสมบูรณ์ของมัน    สังคมส่วนใหญ่ในปัจจุบันมิได้มีชีวิตอยู่ด้วยความกลัวด้านโรคภัยไข้เจ็บ   และภัยธรรมชาติที่โหมกระหน่ำรุนแรง   เพราะเราเชื่อในระบบเตือนภัย?   เรามียาปฏิชีวนะ และ วัคซีนป้องกันโรค   สิ่งเหล่านี้ทำให้โลกเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วใช้เวลาน้อยกว่า 100 ปี คนในยุคนี้คาดหวังและกำลังเข้าใจว่าเราสามารถมีอายุยืนยาวและแข็งแรงมากกว่าผู้คนในอดีต?

ในยุคของเราวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ได้สร้างสิ่งดีๆ แก่ผู้คนมากมาย  ทำให้เราประหยัดการใช้เวลาลงในการกระทำสิ่งต่างๆ   เรามีโปรแกรมที่ช่วยเราในการบริหารจัดการด้านการเงิน  การบริหารจัดการเวลาของเรา  ในการลดน้ำหนักตัวของเรา   เราสามารถไปยังอีกซีกโลกหนึ่งภายในเวลา 24 ชั่วโมง เราสามารถเข้าถึงความสะดวกสบาย  การเดินทาง  การพักผ่อน  และเข้าถึงสิ่งต่างๆ ที่เราชอบและพึงพอใจได้สะดวกรวดเร็วมากมายกว่าผู้คนในสมัยก่อนหน้าเรา

แล้วเรามีความสุขหรือไม่?           

คำถามคือ  แล้วชีวิตของเรามีความสุขหรือไม่?

แต่คิดตามหลักตรรกะแล้ว   ถ้าสถานการณ์ชีวิตปัจจุบันเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น   แน่นอนว่าเราน่าจะมีชีวิตที่เปี่ยมสุข และ ประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ  หรือมากกว่าคนที่อยู่ในโลกที่สามที่ยากจนข้นแค้นมิใช่หรือ?  

ลองมองดูรอบๆ ตัวเราสักหน่อยสิ   มันเป็นความจริงที่ท่านสามารถเห็นกับตาได้ไหม?

แต่สิ่งที่เราเห็นกลับเป็นชีวิตที่มีแต่ความเหนื่อยล้า,  รุ่มร้อน,  ผู้คนอยู่ในภาวะถูกกดดัน   รีบเร่ง  ไม่มีเวลา  วุ่นวาย  สับสน  เครียด  กดดัน  เหนื่อยล้าหมดแรง   และนี่คือความสมบูรณ์พูนครบที่เป็นอยู่ในวัฒนธรรมของเราในปัจจุบัน!?

ในหนังสือชื่อ Margin: Restoring Emotional, Physical, Financial, and Time Reserves to Overloaded Lives. เขียนโดย Richard A. Swenson, M.D  ที่ ซูซานน์ โจนส์ ได้สกัดความไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ใหญ่กว่า,  ดีกว่า,  มากกว่า

ดร. สเวนสัน ได้ชี้ถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากความผิดปรกติบางประการ   ท่านชี้ว่าวัฒนธรรมในโลกแห่งความทันสมัยของยุคนี้กำลังตกอยู่ในภาวะความเจ็บปวดทางจิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ   ความก้าวหน้าแห่งยุคทันสมัยได้หยิบยื่นวัฒนธรรม “ที่มีมากกว่า” “รวดเร็วกว่า” ให้แก่ผู้คนในปัจจุบันนี้  ท่านถามอย่างท้าทายว่า

แต่ถ้ามันมากเกินพอดีล่ะจะเป็นอย่างไร?

แล้วถ้ามันก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย  จนเกิดความตึงเครียด  ความรุนแรงก้าวร้าว  ความซับซ้อนซ่อนเงื่อน  ความรีบเร่งรวดเร็วจนกลายเป็นสิ่งที่ทับถมจู่โจมความนึกคิด จิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ  ความสามารถ  ทางเศรษฐกิจการกินการอยู่ของเราล่ะ   จะเป็นอย่างไร?

ความก้าวหน้าไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย   และนี่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักด้วย!

ประเด็นสำคัญคือ  ในปัจจุบันเราตกอยู่ในภาวะ “เสพติด” วัฒนธรรมใหญ่กว่า มากกว่า  ดีกว่า เร็วกว่า  แล้ววัฒนธรรมนี้ทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เรา “เหนือกว่าคนอื่น”  รวมถึงความคิดที่ว่าเราเหนือกว่าคนในยุคก่อนหน้าเราด้วย

เราคิดว่าการมีมากกว่าย่อมดีกว่าใช่หรือไม่?

ดร. สเวนสัน ชี้ว่า เป็นความจริงที่เราปัจจุบันมีความก้าวหน้าในด้านกายภาพและสภาพแวดล้อมในการรับรู้และการคิด   แต่เราสูญเสียการรับรู้และการคิดที่ละเอียดอ่อนในด้านสังคมและความสัมพันธ์,  ด้านอารมณ์ความรู้สึก,  และด้านจิตวิญญาณ   ท่านกล่าวอย่างแดกดันว่า “ปัจจุบันเรามีความทุกข์ทุกอย่างที่เราหาซื้อได้”

ถ้าเกิดการระบาดของโรคอหิวาตกโรคในที่ใด   เรามักจะมุ่งมองบ่งชี้ไปที่ความผิดพลาดของสภาพแวดล้อมมิใช่คนที่ได้รับเชื้อโรคตัวนั้น   เช่นกันการระบาดของโรคความเจ็บปวดทางความคิดจิตใจและอารมณ์ก็เกิดจากสภาพที่ไร้สุขภาวะอันเกิดจากความก้าวหน้าของวัฒนธรรมแวดล้อมสังคมมนุษย์เช่นกัน เช่น ความเครียด  ผู้คนต้องแบกรับทางจิตใจอารมณ์และจิตวิญญาณที่เกินพิกัด   ระบบสนับสนุนสุขภาวะที่พิกลพิการ  

แย่กว่านั้นเรายังตกอยู่ในภาวะวัฒนธรรมที่ให้ความนับถือและให้รางวัลแก่สิ่งที่อาจจะสร้างอันตรายหายนะแก่มนุษย์

เราอับอายไม่กล้าที่จะยอมรับว่าชีวิตของเรากำลังประสบกับความเจ็บปวด   และกลัวเสียหน้าที่จะบอกเล่ากล่าวเตือนให้ระวังในเรื่องนั้น  ใช่ไหม?

เรามีสิ่งของดีๆ มากมายที่เราสามารถใช้เงินซื้อมา   แต่เราก็ยังไม่มีความสุขใช่ไหม?

อะไรกำลังเกิดขึ้นกับเรา   อะไรคือสิ่งผิดพลาดที่ทำให้เราตกในสภาพที่ไร้ความสุข?

เราจึงชี้กล่าวโทษคนอื่น   อย่างเช่นเรากล่าวโทษคนที่ได้รับเชื้ออหิวาตกโรคมาเช่นนั้น   และนี่เป็นการหลงประเด็นมิใช่หรือ?

ความเครียด:  ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลง

ความเครียดมิใช่ผลพวงที่เกิดจากการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เลวร้าย หรือ ไม่พึงประสงค์อย่างที่เรามักจะเข้าใจกันเช่นนั้น

แต่ความเครียดเกิดขึ้นได้กับสถานการณ์ที่เลวร้าย และ สถานการณ์ที่ดีด้วย   ความตาย,  การหย่าร้างทำให้คนเราเครียดจัด    แต่เมื่อเรามีความดีใจสุขใจอย่างเช่นการแต่งงาน หรือ การตั้งครรภ์ก็นำความเครียดมาสู่ผู้คนด้วยเช่นกัน   การเปลี่ยนงานที่ทำหรือการหยุดพักลางานมันก็สร้างความเครียดให้ได้เช่นกันด้วย   ที่เราเครียดเพราะเราต้องตัดสินใจในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของแต่ละสถานการณ์ชีวิตการงาน   ความเครียดเกิดขึ้นเพราะเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถที่จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงนั้น   และในเวลาเดียวกันเราไม่สามารถควบคุมการเกิดความเครียดให้มีมากน้อยแค่ไหน   ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเครียดกันอย่างมากเพราะชีวิตขับเคลื่อนไปด้วยความเร็วสูงที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้   และก็ไม่มีระบบใดที่จะช่วยเสริมหนุนผู้คนในการรับมือต่อความเร็วสูงในยุคปัจจุบัน   และในเวลาเดียวกันเราก็ไม่มีพื้นที่ว่างที่คนในยุคปัจจุบันจะใช้เป็นที่อยู่พักพิงอย่างเช่นคนในอดีตมี เช่น พื้นที่ในความสัมพันธ์กันเองในครอบครัว   พื้นที่ว่างของชีวิตจิตวิญญาณ   พื้นที่ว่างในความสัมพันธ์ในชุมชนหมู่บ้าน

พื้นที่ว่าง

ในสภาพชีวิตที่ถูกสิ่งต่างๆ ทั้งหน้าที่การงาน  ครอบครัว  เศรษฐกิจที่ถาโถมจู่โจมเข้าในชีวิตของเราอย่างยากที่เราจะยับยั้ง   จนชีวิตเกิดความสับสนว้าวุ่นจนไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับชีวิตของตน   และนี่คือที่มาว่า  ในชีวิตของเราปัจจุบันนี้เราต้องการพื้นที่ว่างสำหรับชีวิตของเรา

เมื่อเราพูดถึงพื้นที่ว่างสำหรับชีวิต   ขอให้เราคิดถึงหน้าหนังสือที่มีพื้นที่กรอบรอบหน้าหนังสือที่เป็นพื้นที่ว่าง   ไม่มีตัวหนังสือใดๆ   พื้นที่ว่างสำหรับชีวิตเป็นภาพที่แตกต่างกับชีวิตที่ถูกถาโถมยึดครองพื้นที่ชีวิตของเราไปจนหมดสิ้น   และให้เราสังเกตว่า   ตัวหนังสือที่เขียนหรือพิมพ์ลงในหน้าหนังสือนั้นก็ยังมีพื้นที่ว่างระหว่างอักษรและสระ   มีวรรคมีตอน   ที่ทำให้ตัวอักษรเหล่านี้สื่อสารความหมายได้   แต่ถ้าทั้งหน้ามีอักษรที่ติดกันเป็นพรืดไปจนไม่รู้จะอ่านหรือเข้าใจว่ามีความหมายอะไรแล้ว   ก็ไม่สามารถสื่อสารความหมายมันไม่มีคุณค่าอะไร  ดังนั้นพื้นที่ว่างเล็กบ้างน้อยบ้างก็จะช่วยให้เกิดการสื่อสารความหมายและก่อเกิดคุณค่า   ชีวิตของคนเราก็เช่นกันที่ต้องมีพื้นที่ว่าง เล็กบ้างกว้างบ้างจึงนำมาซึ่งคุณค่าและความหมายในชีวิต

ชีวิตจะไร้ซึ่งคุณค่าและความหมายถ้าชีวิตอัดแน่นยัดเยียดด้วยกิจกรรมและสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต   เพราะชีวิตของเราจะไม่มีเวลาและโอกาสชีวิตในการสะท้อนคิดถึงชีวิตของเราที่เป็นไป

เวลาชีวิตสำหรับการสะท้อนคิด

การเดินทางไปที่ต่างๆ เป็นกิจกรรมประเภทหนึ่งที่ผมชอบ   เพราะในช่วงของการเดินทางทำให้ผมมีพื้นที่เวลาชีวิตที่จะสะท้อนคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาในเรื่องต่างๆ    และในเวลาเดียวกันในการเดินทางนำเราไปพบประสบกับประสบการณ์ต่างๆ ใหม่ๆ ในชีวิต   และนี่คือสิ่งที่เราสามารถใช้ในการสะท้อนคิดใคร่ครวญถึงชีวิตของเรา   แต่ถ้าช่วงใดที่ต้องเดินทางเพราะการงานที่แบบติดๆ กันมิได้พักจนเกิดอาการเบลอในชีวิต   การเดินทางแบบนี้เรามักถูกแย่งชิงพื้นที่เวลาชีวิตที่จะมีโอกาสสะท้อนคิดไปหมด  ไม่มีเวลาที่จะสะท้อนคิด   และไม่ต้องแปลกใจเลยครับการเดินทางแบบนี้ไม่ได้สร้างความชื่นชมยินดีในชีวิต   แต่นำมาซึ่งความเหนื่อยอ่อนหมดแรง นำสู่การหมดไฟในชีวิต

ชีวิตที่ต้องเลือก

การที่จะมีพื้นที่ว่างในชีวิตได้ก็เพราะคนๆ นั้นตัดสินใจเลือกให้ชีวิตมีพื้นที่ว่างสำหรับตนเอง   ต้องตัดสินใจและตัดใจลงไปว่า จะทำกิจกรรมชีวิตน้อยลง   วางกำหนดตารางงานชีวิตให้หนาแน่นลดลง   และต้องเรียนรู้ที่จะตอบปฏิเสธ   พื้นที่ว่างในชีวิตคือการที่เราจะมีพื้นที่เวลาชีวิตเพิ่มมากขึ้น  มีกำลังในตนเองเหลือมากขึ้น   มีทรัพยากรเหลือมากยิ่งขึ้น   ที่มีมากยิ่งขึ้นที่กล่าวมานี้มิใช่เพราะเราทำงานหนักขึ้น   แต่เพราะเราเปลี่ยนความคาดหวังในชีวิตของเรา   และมุมมองความคิดเข้าใจ หรือคำจำกัดความ “ความสำเร็จ” ในชีวิตของเราที่เปลี่ยนไป   พื้นที่ว่างในชีวิตคือการที่เราพอใจกับชีวิตที่เรามีอยู่และเป็นอยู่

(กรุณาอ่านตอนต่อไปในวันศุกร์หน้า)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น