29 กรกฎาคม 2556

คำพูดที่สร้างเสริมหรือทำลาย

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้อย่างมากเมื่อชีวิตต้องออกมาทำงานคือ  ผมควรจะพูดอย่างไร

จะพูดอย่างไร  คนที่ผมพูดด้วย จะเชื่อมั่นว่าผมอยู่เคียงข้างเขา

จะพูดอย่างไร  ให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างที่ผมต้องการให้เขาเข้าใจ

จะพูดอย่างไร  ที่ความตั้งใจและเจตนาของผมจะไม่ถูกผู้ฟังเข้าใจผิด

จะพูดอย่างไร  ในเรื่องที่เข้าใจยากลำบากให้ผู้ฟังเข้าใจและยอมรับได้

จะพูดอย่างไร  ที่ผู้ฟังยังฟังสิ่งผมพูด   ที่ผู้ฟังไม่เริ่มคิดค้าน โต้แย้งในจิตใจ  แล้วไม่สนใจฟังเราพูดในเวลาเดียวกัน

จะพูดอย่างไร  ที่เป็นการพูดด้วยสัตย์ซื่อจริงใจ  ตรงไปตรงมา  และการพูดยังเกิดผลทุกอย่างตามทุกประการข้างต้น

การพูดมีความแตกต่างหลากหลาย

ความแตกต่างเหล่านั้นมิใช่สิ่งที่เราจะเห็นชัดเจนด้วยตาเสมอไป

ในการพูดสื่อสารด้วยวิธีการเดียวกันแต่ในงานที่แตกต่างกันอาจสร้างสิ่งแตกต่างตรงกันข้ามกันได้ เช่น
การสื่อสารในงานธุรกิจ
การสื่อสารในการให้การปรึกษา
การสื่อสารในชีวิต

เราคงต้องกลับมาสำรวจตรวจดูว่า  เรามีความอ่อนพร่องในการสื่อสารด้านใด

เราอาจจะเคยมีประสบการณ์ถึงความอ่อนพร่องในการสื่อสารทั้งในการทำธุรกิจ และ ในการเป็นผู้นำ เพราะในการทำธุรกิจและในการเป็นผู้นำเรามิได้มุ่งสื่อสารเพียงให้ทีมงานของเรามีวิสัยทัศน์และพลังขับเคลื่อนร่วมเท่านั้น
แต่เป็นการสื่อสารในวงการทำธุรกิจ การงาน ที่มีความเป็นคนเป็นสำคัญ!

ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะมีเทคโนโลยีที่สนับสนุนในการสื่อสารตลอดเวลาและในทุกที่   แต่ในที่สุดเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ต้องถูกใช้โดยคน
คนที่มีความคิด ความรู้สึก มีจิตมีใจ

ในการสื่อสารของเราในวันนี้กับคนใดคนหนึ่งนั่นเป็นโอกาสที่เรา...อาจจะ...
  • ให้การศึกษาเรียนรู้แก่คน
  • สร้างความเจ็บปวดแก่คนๆ นั้น
  • ลดคุณค่าในคนที่เราพูดด้วย
  • ให้กำลังใจกับคนที่เราสื่อสาร
  • สร้างความสับสนมึนงงแก่คนที่สื่อสารด้วย
  • ให้ข้อมูลแก่ผู้ที่เราสื่อสารด้วย

และรายการนี้ยังมีอีกยาวเหยียดครับ....

ในพระคัมภีร์ที่พูดถึงการใช้ลิ้น  หรือการสื่อสารพูดจาไว้มากมายหลายตอน   แสดงว่าพระคัมภีร์เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสาร   ขอยกตัวอย่างบางตอนจากพระคัมภีร์มาดังนี้

17 คนที่​พูด​ความ​จริง​ก็​ให้​การ​อย่าง​ซื่อ​สัตย์
แต่​พยาน​เท็จ​กล่าว​คำ​หลอก​ลวง 

18 คำ​พูด​พล่อยๆ เหมือน​ดาบ​แทง
แต่​ลิ้น​ของ​คน​มี​ปัญ​ญา​นำ​การ​รักษา​มา​ให้   

19 ปาก​ที่​พูด​จริง​ทน​อยู่​ได้​เป็น​นิตย์
แต่​ลิ้น​ที่​พูด​มุสา​อยู่​ได้​เพียง​ประ​เดี๋ยว​เดียว    (สุภาษิต 12:17-19 มตฐ)

4 ลิ้น​ที่​ปลอบ​โยน​เป็น​ต้น​ไม้​แห่ง​ชีวิต
แต่​ลิ้น​ตลบ​ตะแลง​ทำ​ให้​จิต​ใจ​แตก​สลาย  (อ่านสุภาษิต 15:3-5  ข้อ 4 มตฐ)


คำพูดของท่านเสริมสร้างหรือทำลาย

เป็นที่แน่ชัดด้วยว่า สิ่งที่เราพูด หรือ วิธีการที่เราสื่อสารได้สร้างความแตกต่างด้วย  อาจจะเป็นการ “เสริมสร้าง” หรือ เป็นการ “ทำลาย” ก็ได้

เรารู้เรื่องนี้แล้ว  เราได้อ่านจากพระคัมภีร์แล้วใช่ไหม?

เราพบลูกน้องที่เหมือนมีอะไรมาจุกปากจุกคอพูดอะไรไม่ออกเพราะผู้บริหารได้ตัดสินใจย้ายหน้าที่การงานของเขา ไปในส่วนที่เขาไม่มีความสามารถ

เราเห็นสีหน้าและดวงตาของคนทำงานในหน่วยงานนั้นหลังจากที่ผู้บริหารตัดการบริการทุกอย่างเพียงเพื่อเพิ่มตัวเลขรายได้ให้มากขึ้น   เพื่อพิสูจน์ความเป็นนักบริหารของตนเอง(ด้วยตัวเลขทางบัญชี)   แต่กลับทำลายความเป็นคนของคนทำงานและผู้มาใช้(ซื้อ)บริการด้วย

เราทุกคนต่างตกลงในกับดักการใช้คำพูดโดยขาดการเอาใจใส่ต่อผลที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนที่เราสื่อสารด้วย   ทั้งนี้เพราะมิใช่คำพูดเท่านั้นที่สร้างการเสริมสร้างหรือทำลาย   แต่เพราะคำพูดที่เราใช้ในการสื่อสารนั้นมันถูกกลั่นและกรองมาจากวิธีคิดของคนๆ นั้น   จึงสร้างผลที่เกิดจากการสื่อสารอย่างมากมาย   และสร้างผลกระทบต่อความคิด  ความรู้สึกของคนที่รับการสื่อสารนั้นด้วย

แล้วเราจะใช้คำพูดสื่อสารของเราที่สร้างความแตกต่างได้อย่างไร?

เราคงต้องฝึกและสร้างความตระหนักถึงความรู้สึกของคนที่เราจะสื่อสารด้วย   ทั้งนี้ให้รวมถึงการสื่อสารด้วยวาจาคำพูด  ท่าทางที่แสดงออก   น้ำเสียงที่ใช้  และเจตนาที่ซ่อนเร้นในการสื่อสารนั้นๆ   เรื่องนี้มิใช่ความรู้  ทักษะ เท่านั้น   แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “ใจ”   และนี่เป็นประสบการณ์ของการสื่อสารที่เสริมสร้างความแตกต่างในชีวิตของเราเองและผู้รับสาร

1) ให้อธิษฐานก่อนทุกครั้งที่จะมีการสื่อสารที่สำคัญ

ให้เราทูลขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานสิ่งที่เราควรจะสื่อสาร  และมีวิธีการท่าทีในการสื่อสารที่สื่อด้วยความรักเมตตาแบบพระคริสต์   พระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำเรา และ ประทานเนื้อหา  วิธีการที่เหมาะสมในการสื่อสารครั้งนั้น    ที่สำคัญคือพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทำงานในจิตใจและจิตวิญญาณของเรา   และในเวลาเดียวกันพระองค์จะทรงทำงานในจิตใจและจิตวิญญาณของผู้ที่เราสื่อสารด้วย   และนี่ย่อมเป็นการที่เสริมสร้างทั้งสองฝ่ายขึ้น

1 แผน​งาน​ความ​คิด​เป็น​ของ​มนุษย์
แต่​คำ​ตอบ​ของ​ลิ้น​มา​จาก​พระ​ยาห์​เวห์ 
2 ทาง​ทุก​สาย​ของ​มนุษย์​ก็บริสุทธิ์​ใน​สาย​ตา​ของ​เขา​เอง
แต่​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​ตรวจ​ดู​จิต​ใจ 
3 จง​มอบ​งาน​ของ​เจ้า​ไว้​กับ​พระ​ยาห์​เวห์
แล้ว​แผน​งาน​ของ​เจ้า​จะ​ได้​รับ​การสถาปนา   (สุภาษิต 16:1-3 มตฐ)

2) ให้ฝึกซ้อมการสื่อสารก่อน

จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใคร่ครวญถึงผลกระทบทางอารมณ์ ความรู้สึก ที่อาจจะเกิดขึ้นกับบางคนในการสื่อสารครั้งนั้น   จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องพิจารณาว่าเราจะใช้การสื่อสารแบบไหน   เราจะมีทีท่า และ แสดงท่าทางอย่างไร   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ  การที่เขียนสาระสำคัญของการสื่อสารครั้งนั้นขึ้น   เพื่อความชัดเจน  และพร้อมใช้เมื่อจำเป็นต้องการใช้ในการสื่อสารครั้งนั้น

3) เอาใจเขามาใส่ใจเรา

เราคงต้องถามตนเองก่อนว่า   ถ้าเราเป็นเขาเมื่อได้ยินสิ่งที่เราจะสื่อสารกับเขาจะเกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง?   จะมีวิธีการอะไรบ้างไหมที่สร้างความนิ่มนวล และ สร้างความรู้สึกดีเมื่อได้ยินเรื่องนี้?   เมื่อเขาได้ยินเนื้อหาและวิธีการที่เราสื่อสาร   เขาจะรู้สึกว่าเราใส่ใจชีวิต และ ความรู้สึกของเขาหรือไม่?   เขาจะรู้สึกว่าเรายืนเคียงข้างเขาหรือไม่?   เขาจะรู้สึกว่าเราจริงใจ  ตรงไปตรงมากับเขาหรือไม่?

4) ใส่ใจคนที่เราสื่อสารด้วย

ไม่ว่าสถานการณ์ในการสื่อสารครั้งนั้นจะเป็นอย่างไร  หรือการสื่อสารจะเป็นอย่างไรก็ตาม  ความจริงของความจริงที่เราต้องไม่หลงลืมคือ  คนที่เราสื่อสารด้วยเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ  ทั้งเขาและเราต่างต้องการสายสัมพันธ์ที่ดี  ความรู้สึกที่อบอุ่นจากกันและกัน   การเปิดเผยจริงใจ  

การสื่อสารที่ทำแบบทางการ  แบบผู้จัดการ ผู้อำนวยการกับลูกน้อง   จะทำให้คำพูดคำจาของเรามาจาก “หัว”  ยืนอยู่บนตรรกะ  มิใช่คำพูดหรือการสื่อสารที่มาจาก “ใจ”   ไม่ควรละเลยการใส่ใจคู่สนทนาสื่อสาร   แต่ให้เรากระทำต่อคู่สนทนาสื่อสารของเราอย่างเป็นมนุษย์   ที่มีความเชื่อ  มีความรู้สึก   มีแรงบันดาลใจพร้อมที่จะรับการกระตุ้นให้เขามีส่วนร่วมรับผิดชอบ   และเปิดช่องทางการสื่อสารแบบสองทาง

แต่ที่น่าอันตรายคือ   บ่อยครั้งที่ผู้บริหารมักทำการสื่อสารเพื่อเป็นการนำสารที่ตนเองต้องการใส่เข้าใน “หู” และใน “หัว” ของคนที่ตนต้องการสื่อสารด้วย   หรือบางครั้งวิธีการสื่อสารของเราทำเช่นนั้นเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง  หรือเพื่อไม่ทำให้ตนเองรู้สึกไม่สบายใจเท่านั้น  (สื่อสารเพื่อตนเองเท่านั้น)

ในวันนี้  โปรดตระหนักว่า   เมื่อท่านสื่อสารสนทนากับใครเมื่อใดก็ตาม   พระคริสต์อยู่เคียงข้างทั้งตัวท่านและคู่สนทนาสื่อสาร   พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงพร้อมที่จะช่วยท่านให้สื่อสารที่สร้างสรรค์ที่สอดคล้องตามพระประสงค์ของพระเจ้า

แต่หากเราสื่อสารสนทนาโดยไม่สนใจปรึกษาพระวิญญาณบริสุทธิ์   แล้วการสนทนาสื่อสารครั้งนั้นทำให้คู่สนทนาต้องทุกข์กังวลใจ  เจ็บปวดในชีวิต   ก็เหมือท่านได้ทำให้พระคริสต์ที่เคียงข้างคู่สนทนาสื่อสารต้องเจ็บปวดเพราะการพูดการสื่อสารของท่านด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น